บทที่ 1 สารสนเทศการตลาด

สารสนเทศทางการตลาด
สารสนเทศทางการตลาด
                หมายถึง สารสนเทศที่ได้จากการประมวลผลของระบบสารสนเทศทางการตลาด ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลและสารสนเทศทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร โดยใช้สนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด ทั้งในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่าย การตั้งราคาผลิตภัณฑ์ การตัดสินใจทางการตลาด การสื่อสารการตลาด และการพยากรณ์ยอดขาย ในส่วนการทำสารสนเทศทางการตลาดมักจะต้องอาศัยเครื่องมืออัตโนมัติเพื่อสร้างหลักฐาน หรือสัญญาด้านการขาย เช่น ระบบอีเมล์ ประชุมผ่านวีดิทัศน์ โดยเฉพาะในส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการตลาด ทั้งด้านการโฆษณาและการขายผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการใช้ระบบสารสนเทศด้านการจัดการลูกค้าสัมพันธ์เพื่อจัดเก็บข้อมูลลูกค้า และสนองตอบการสร้างความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อผลิตภัณฑ์ของธุรกิจในระยะยาว
 



ประเภทสารสนเทศทางการตลาด
                สารสนเทศทางการตลาด  สามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
1.สารสนเทศเชิงปฏิบัติการ คือ สารสนเทศที่ได้รับจากการปฏิบัติงานด้านการตลาด เพื่อสร้างยอดขายสินค้าให้กับธุรกิจ ดังนี้
1.1 สารสนเทศด้านลูกค้า เป็นการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัว ประวัติการซื้อสินค้าและบริการตลอดจนความพึงพอใจของลูกค้า การจัดหาสารสนเทศนี้ อาจใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้พนักงานขาย สำหรับผู้เป็นลูกค้าเดิม หรือการเก็บรวบรวมข้อมูลวิจัยตลาด สำหรับลูกค้าที่เป็นเป้าหมายสำหรับการซื้อสินค้าหรือบริการในอนาคต ซึ่งสารสนเทศนี้ มักถูกนำไปใช้ในงานด้านการขายและการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
1.2 สารสนเทศด้านการขาย เป็นการจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าหรือบริการ โดยอาจเป็นสารสนเทศที่เป็นรายละเอียดการขายรายวัน หรือเป็นรายงานสรุปการขายรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายปีก็ได้ และในส่วนการออกรายงานการขายดังกล่าว อาจเลือกให้จำแนกตามพนักงานขาย ตามเขตพื้นที่การขาย หรืออื่นๆ ก็อาจจะเป็นได้
1.3 สารสนเทศด้านสินค้า เป็นสารสนเทศซึ่งนำเสนอรายละเอียดสินค้าที่มีไว้ขาย โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของระบบสารสนเทศทางการผลิต นำมาใช้ประกอบกับข้อมูลการขาย  เพื่อให้ข้อมูลสินค้ากับลูกค้าเป้าหมาย โดยสารสนเทศนี้ อาจจะปรากฏอยู่ในใบรายการสินค้า เว็บไซต์สินค้าหรือหน้าจอโฆษณาเกี่ยวกับสินค้าก็ได้
2.สารสนเทศเชิงบริหาร คือ สารสนเทศ ที่ใช้สนับสนุนงานการบริหารการตลาด และการพัฒนาส่วนประสมการตลาด ซึ่งจำแนกประเภทได้ดังนี้
2.1 สารสนเทศด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ คือ สารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสภาพ วัตถุดิบ เป็นสินค้าสำเร็จรูปหรือบริการ ตลอดจนความมุ่งหวังในคุณลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์  โดยจะต้องอาศัยข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยตลาด
2.2 สารสนเทศด้านสื่อสารการตลาด คือ สารสนเทศที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการโฆษณา และส่งเสริมการขายหรือวิธีการสื่อสารการตลาดอื่นๆ เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการของธุรกิจ โดยใช้โปรแกรมการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายเข้าช่วย ซึ่งสารสนเทศที่ได้รับ คือ สารสนเทศด้านโฆษณาและผลสำเร็จของการโฆษณา สารสนเทศด้านการส่งเสริมการขายและผลสำเร็จของการส่งเสริมการขาย ตลอดจนสารสนเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
2.3 สารสนเทศด้านการตั้งราคาสินค้าหรือบริการ คือ สารสนเทศที่ได้จากการวางแผนด้านราคาสินค้าหรือบริการ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญและมีความซับซ้อนสำหรับการตั้งราคาขายปลีกขายส่งตลอดจนส่วนลดต่างๆ และยังต้องอาศัยการวิเคราะห์อุปสงค์ของสินค้าในตลาด การกำหนดราคาที่สัมพันธ์กับยอดขาย และการพัฒนานโยบายด้านราคาเพื่อให้ยอดขายรวมสูงสุด โดยใช้โปรแกรมการตั้งราคาเข้าช่วย สารสนเทศที่ได้รับคือ ราคาสินค้าหรือบริการของแต่ละรายการ เส้นโค้งแสดงอุปสงค์และอุปทานในตลาด ตลอดจนเป้าหมายในการขาย
2.4 สารสนเทศด้านพยากรณ์ยอดขาย คือ สารสนเทศซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงสินค้าหรือบริการ การปฏิบัติงานของพนักงานขาย ตลอดจนพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าที่นำมาซึ่งผลกำไรของธุรกิจ  โดยใช้โปรแกรมพยากรณ์ยอดขาย วิเคราะห์อุปสงค์ของตลาดในอนาคตและใช้ร่วมกับข้อมูลยอดขายสินค้าในอดีต เพื่อนำเสนอรายงานพยากรณ์ยอดขายให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจด้านการขายสินค้าหรือบริการต่อไป
 
3.สารสนเทศนอกองค์กร คือ สารสนเทศที่ได้มาจากกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภายนอกองค์การ ซึ่งจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ
                      3.1 สารสนเทศด้านวิจัยการตลาด คือ สารสนเทศที่เก็บรวบรวมได้จากการสำรวจ แบบสอบถาม การศึกษานำร่องตลอดจนการสัมภาษณ์ โดยใช้โปรแกรมวิจัยตลาดเข้าช่วยในการเก็บรวบรวมวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาตลาดและบ่งชี้ให้เห็นถึงลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมถึงความต้องการสินค้าหรือบริการในอนาคต
                      3.2 สารสนเทศด้านข่าวกรองทางการตลาด คือ สารสนเทศที่จัดเก็บและรวบรวมได้จากสภาพแวดล้อมทางการตลาด โดยเฉพาะข้อมูลของผู้แข่งขัน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลายฝ่าย เช่น ลูกค้า พนักงานขาย หรือตัวแทนขาย เป็นต้น ซึ่งการใช้ข่าวกรองนี้จะมีผลให้ธุรกิจสามารถทำการตัดสินใจทางการตลาดได้ถูกต้องยิ่งขึ้น อีกทั้งนำมาซึ่งความได้เปรียบเชิงการแข่งขันทางธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น